ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวคิดและตัวแปรในการวิจัย (concepts and variables in research methodology)

แนวคิด (concept) คือชื่อที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ต่างๆที่พบเห็นในการวิจัย คำนี้แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษ ว่า concept ซึ่งมักใช้กับแนวคิดที่เป็นรูปธรรม (concrete) แต่ถ้าแนวคิดนั้นบอกถึงปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า construct ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการพูดในที่สาธารณะ ความมีวินัย การขาดงาน เป็นต้น

รศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ กล่าวในหนังสือ การวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ อธิบายความหมายของ แนวคิดไว้ดังนี้

ปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในที่ทำงานแสดงสีหน้าเหงาหงอย เศร้าสร้อย ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ขาดงานบ่อย ลางานบ่อย มาสายและกลับก่อนเวลาเลิกงาน
คนส่วนมากที่สังเกตพบปรากฏการณ์เช่นว่านี้ อาจมีความเห็นตรงกันว่า คนที่นี่ขาด "ขวัญกำลังใจ"
คำว่า "ขวัญกำลังใจ" คือแนวคิดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เพิ่งกล่าวถึงนี้

ตัวแปร คืออะไร ตัวแปรคือตัวที่ค่าของมันผันแปรไปตามเจ้าของ เช่น
              อายุของคน จะผันแปรไปตามเจ้าของแต่ละคน
              เพศของคน ก็เป็นตัวแปรที่ผันแปรไปตามแต่ละคน เพศของคนจะมีค่า 2 ค่า คือ ชายและหญิง จะเป็นค่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่ากำลังกล่าวถึงเพศของใคร
              ภูมิลำเนา จะมีหลายค่า แต่จะเป็นค่าใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่กำลังถูกกล่าวถึง

              ตัวแปรทางรัฐประศาสนศาสตร์นั้นมีมากมาย แล้วแต่ว่า
                     1) เราจะพิจารณาประเด็นอะไร
                     2) เราจะศึกษาประชากรกลุ่มใด และ
                     3) จะใช้วิธีการวิจัยแบบใด เราอาจจะพิจารณาตัวแปรที่ระดับบุคคล ระดับกลุ่มในองค์กร หรือมองที่องค์การทั้งองค์การ สิ่งแวดล้อมนอกองค์การ กิจกรรมการบริหาร กระบวนการบริหาร เหล่านี้เป็นต้น

ประเภทของตัวแปร หากจำแนกประเภทของตัวแปรอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. ตัวแปรอิสระ (independent variables) นักวิจัยบางท่านเรียกว่าตัวแปรต้น เป็นตัวแปรที่มีส่วนในการกำหนด หรือมีอิทธิพลต่อตัวแปรตาม ดังนั้น บางคนจึงเรียกตัวแปรประเภทนี้ว่าตัวแปรสาเหตุ (Cause variable) เพราะเป็นต้นเหตุให้ตัวแปรตัวอื่นผันแปรไปนั่นเอง

2. ตัวแปรตาม (dependent variables) คือตัวแปรที่ค่าของมันถูกกำหนดด้วยค่าของตัวแปรอื่น หากไม่มีตัวแปรอื่น ตัวนี้จะไม่มีค่า บางทีจึงเรียกว่าตัวแปรผลลัพธ์ (effected variable)

3. ตัวแปรเกิน (extraneous variable) หรือตัวแปรภายนอก คือตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรตาม แต่ไม่ใช่ตัวแปรที่ผู้วิจัยเจาะจงศึกษา โดยเฉพาะบางครั้งผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ได้ล่วงหน้าก็อาจควบคุมอิทธิพลของตัวแปรเหล่านี้ไว้ ตัวแปรที่ควบคุมไว้นี้เรียกว่าตัวแปรควบคุม (controlled variable) ตัวแปรบางตัวผู้วิจัยควบคุมไว้ไม่ได้ ทำให้สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อตัวแปรตาม ตัวแปรเช่นนี้เรียกว่า ตัวแปรสอดแทรก (intervening variable)
ตัวอย่างความคาดหวังที่จะได้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความสัมพันธ์ต่อความรู้สึกต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้
จากตัวอย่างนี้ เราสามารถบอกได้ว่า
ตัวแปรตาม  คือ ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ตัวแปรอิสระ  คือ ความคาดหวังที่จะได้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ตัวแปรควบคุม คือ  เพศ อาชีพ อายุ ระดับการศึกษา
ตัวแปรสอดแทรก คือ  พรรคการเมืองที่สังกัด ฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาแล้ว ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจเรื่องแนวคิดและเรื่องตัวแปรบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

พบกันใหม่คราวหน้า
สำหรับวันนี้สวัสดีครับ