ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทัศนคติของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ต่อนโยบายการเสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา



น่าสนใจไหมครับ
ที่การประเมิณผลโครงการความปลอดภัยทางถนนช่วงสงกรานต์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่าง พ.ศ.2556 – 2559 รวม 4  ปี  พบว่า 
ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 3 ราย และมีผู้บาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 1 คน และจากสถิติเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 พบว่า วันที่ 12 เมษายน 2558 เป็นวันที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด โดยมีสาเหตุจากผู้ขับขี่เป็นหลัก ได้แก่ ผู้ขับขี่เมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด และขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ตามลำดับ และพบว่าจักรยานยนต์ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้กำหนดแผนบูรณาการในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ขึ้น โดยมุ่งบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ใช้การบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่กับการนำนโยบายประชารัฐ มาเป็นกลไกในการสร้างความตระหนัก และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ โดยได้ประสานความร่วมมือกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 



กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ และประชาชนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ภายใต้ ชื่อ "โครงการสงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 

แบ่งระยะเวลาในการดำเนินการเป็น 2 ช่วง คือ

1) ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 17 เมษายน 2559 และ 
2) ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 เมษายน 2559 

เป้าหมายของโครงการ คือ 
เป้าหมายที่หนึ่ง ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน 
เป้าหมายที่สอง ลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้มีจำนวนน้อยที่สุด 

วิธีดำเนินการ โดยใช้มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุ 5 มาตรการ ได้แก่ 
  1. มาตรการด้านการบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพแบบยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยมุ่งบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน 
  2. มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
  3. มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย 
  4. มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และ
  5. มาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ 
ในปัจจุบันนี้วงวิชาการและสื่อกระแสหลักรวมทั้ง Social Media มีการนำเสนอเรื่องการสร้างวินัยของคนในชาติอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากมีการนำเสนอเรื่องการสร้างวินัยและลักษณะนิสัยที่ดีของชาวเยอรมนีและญี่ปุ่น  ชาวเกาหลีใต้ และ ชาวสิงคโปร์ อยู่เสมอๆ โดยเฉพาะลักษณะนิสัยที่ดีในการดำรงชีวิตประจำวันด้านต่างๆ อันเป็นคุณลักษณะที่ต้องผ่านการปลูกฝังและสั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน ทำนองเดียวกันกับโครงการ "หน้าที่ความรับผิดชอบต่อชุมชนระดับสากลและชุมชนท้องถิ่น"(Responsibility to Global and Local Communities)
ตามลิงค์ต่อไปนี้



ข้อสังเกตประการที่ 1  ระยะเวลาในการดำเนินการนั้นสั้นมาก คือมีเวลาดำเนินการเพียง 3 เดือน จากเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน 2559 แต่ตามหลักการสร้างคุณลักษณะที่ดี โดยเฉพาะคุณลักษณะของผู้นำที่ดีนั้น จะต้องผ่านการปลูกฝังสั่งสมมาเป็นเวลาที่ยาวนาน เพราะต้องมีการลงมือแสดงพฤติกรรมที่ดีเสียก่อน จึงจะเกิดเกิดทัศนคติที่ดี จากนั้นจึงจะเกิดคุณลักษณะหรือสมบัติที่ดี เช่นมีคุณลักษณะที่ชอบปฏิบัติตามระเบียบวินัยด้านการจราจร หรือเรียกสั้นๆว่า"มีวินัยการจราจร"ได้ ทั้งนี้ ตามทฤษฎีของ John H. Zenger and Joseph Folkman ที่ว่า  

พฤติกรรม สร้าง ทัศนคติ และทัศนคติสร้าง คุณลักษณะที่ดี


(Behavior To Attitudes To Character) 

ข้อสังเกตประการที่ 2  เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ 2)เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 




3) เทศบาลตำบล จำนวน 15  เทศบาล และ 4) องค์การบริหารส่วนตำบล 1 แห่ง 

ตามกฏหมายแล้ว องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่นล้วน มีอำนาจและหน้าที่ครอบคลุมเขตพื้นที่ทุกตารางนิ้วของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และ ที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 นั้น ได้ระบุอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เกี่ยวกับการสร้างวินัยจราจร อีกด้วย คือ
ฯลฯ
"(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น"
ฯลฯ
(9) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคอาจมอบอำนาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 
และหากพิจารณาเพิ่มเติมอีกว่า เวลาต่อมาได้มี กฎกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กำหนดให้กิจการดังต่อไปนี้ เป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการ หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ เช่น
          ฯลฯ
                  (2) กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
                   ฯลฯ
                  (4) บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                  (5) วางผังเมือง
                  (6) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นทางหลวงชนบทตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
                 (7) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ
                 (8) จัดให้มีท่าเทียบเรือ ท่าข้าม ที่จอดรถ และตลาด
                 (9) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
               (10) รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
               (11) จัดการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา และบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
               (12) จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะและสวนสัตว์ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมสำหรับราษฎร
               (13) จัดให้มีการสังคมสงเคราะห์และการสาธารณูปการ
               (14) ป้องกันและบำบัดรักษาโรค
               (15) จัดตั้งและการบำรุงสถานพยาบาล
               (16) ส่งเสริมการท่องเที่ยว
               (17) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ
               (18) กิจการที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ดังนั้น  จึงสามารถกล่าวได้ว่า อปท.ล้วนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างวินัยของประชาชนซึ่งรวมถึงวินัยจราจรด้วย

ข้อสังเกตประการที่ 3  คือ เมื่อใดที่มีการกำหนดพันธกิจการพัฒนาท้องถิ่น จะพบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ส่วนมากจะระบุพันธกิจ เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างวินัยจราจร ไว้หลายประการ เช่น

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับผังเมืองรวม พัฒนาระบบการบริการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง 



2. พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หัตถกรรมและสินค้า OTOP บนพื้นฐาน ของศักยภาพ ที่แข่งขันได้และยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาด้านนี้จำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องปัจจัยการผลิต อันได้แก่เรื่องทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นแรงงานให้แก่หน่วยการผลิตในทุกภาคการผลิตจองระบบเศรษฐกิจ
ฯลฯ
5. ยกระดับคุณภาพ ชีวิต ของประชาชนทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ วิถีการประกอบอาชีพการดำรงชีวิต ที่เข้มแข็งนำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ
ฯลฯ
          7. ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น

จากข้อสังเกตที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ในด้านการบริหารนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฏหมายเกี่ยวกับการเสริมสร้างวินัยจราจร มิใช่เพียงเป็นครั้งเป็นคราวเมื่อมีงานเทศกาล มิใช่พันธกิจเฉพาะกิจ แต่เป็นพันธกิจด้านหลักที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำเลยทีเดียว



ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องรับผิดชอบการเสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนตามกฏหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
ในทางวิชาการ ตามหลักการบริหารสูความเป็นเลิศ ผู้บริหารที่จะมีแรงจูงใจที่ดีต้องมีคุณสมบัติที่สนับสนุนให้เกิด แรงจูงใจในการเสริมสร้างวินัยจราจร ได้อย่างน้อยๆ 6 ประการ คือ

1. ต้องมีความกระตือรือร้นต่ออำนาจหน้าที่หน้าที่ของตนที่เกี่ยวกับการสร้างวินัยจราจร

2. ผู้บริหารจะต้องสนทนากับบุคลากรในหน่วยงานทุกคน ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับการสร้างวินัยจราจรที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน รวมถึงแผนงาน โครงการ กิจกรรมต่างๆที่จะมีผลกระทบต่อบุคคลากรเหล่านั้นด้วย

3. ต้องทำให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายเรื่องการการสร้างวินัยจราจร ต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และนำความคิดเห็นเหล่านั้นเสนอต่อไปยังหน่วยเหนือด้วย

4. ต้องหาโอกาสชมเชยผลงาน และความสำเร็จของบุคลากรอย่างเปิดเผย

5. ต้องสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานให้บุคลากรทราบอย่างสม่ำเสมอ

6. ต้องรีบกล่าวคำชมเชย  อย่ารอให้ผลงานเต็มร้อยเสียก่อน

นอกจากที่กล่าวมาแล้วผู้บริหารที่มีทัศนคติที่ดียังต้องมีคุณสมบัติที่ดีเพิ่มเติมอีก 3 ประการ คือ

1) ต้องรักษาคำพูด (Always deliver)
2) ต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน (Be humble)
3) ต้องแสวงหาข้อมูลย้อนกลับ(Find a miror)

จากปัญหาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงประสงค์ศึกษาทัศนคติของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการให้สูงขึ้นและมีความยั่งยืน เพื่อสามารถสร้างวินัยของคนในชาติได้สัมฤทธิ์ผลให้มากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 

วัตถุประสงค์ของการวิจัยเรื่อง "ทัศนคติของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ต่อนโยบายการเสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์" นี้ คือ 

เพื่อบรรยาย(Describe)และอธิบาย(Explain) ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลตำบลในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ 15 ตำบล และ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ที่มีต่อโครงการเสริมสร้างวินัยการจราจรของจังหวัดกาฬสินธ์ุ

แม้ว่าโพสต์นี้จะยาวมากแล้ว!!!
แต่เรื่องราวของเรายังไม่จบเลย
คราวหน้าเราจึงจะกล่าวถึง กรอบแนวคิดในการวิจัย

สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น