ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

การเขียนคำถามการวิจัย (Research Questions)

วิธีเขียนคำถามการวิจัย เริ่มต้นด้วย
1.เขียนคำถามให้สอดคล้องและครอบคลุมปัญหาการวิจัย โดยแบ่งปัญหาการวิจัยออกเป็น ประเด็น หรือแบ่งตาม หัวข้อย่อย เพื่อความสะดวกในการจัดการกับปัญหาการวิจัย 

2.แบ่งปัญหาการวิจัยออกเป็นหัวข้อย่อยโดยแบ่งตามกลุ่มคน กับแบ่ง ตามประเด็นของการวิจัย โดยให้เขียนแยกเป็นข้อๆเรียงตามลำดับของการศึกษาคำคอบ

3.เขียนเรียบเรียงเป็นประโยคคำถาม ด้วยสำนวนภาษาและถ้อยคำท่ีกระชับ อ่านเข้าใจง่าย

สำหรับหัวข้อการวิจัยที่เรายกมาเป็นตัวอย่าง คือการวิจัยเรื่อง

ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์

http://tongariokalasin.blogspot.com/2016/04/blog-post.html


การเขียนคำถามการวิจัย สำหรับหัวข้อการวิจัยนี้ 
ประการแรก เราต้องพิจารณาปัญหาการวิจัย (Problem Statement) ของเราเสียก่อน แล้วเราจึงระบุคำถามการวิจัยในลักษณะที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ซึ่ง ปัญหาการวิจัยของเราก็คือ

วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ คือ เพื่อบรรยาย (Describe) และเปรียบเทียบ (Compare) ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่น ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์


จากปัญหาการวิจัยนี้ เราสามารถเขียนคำถามการวิจัยโดยแบ่งประเด็นเป็น  ประเด็นทัศนคติ กับ ประเด็นโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจร เราจึงคำถามได้ดังนี้

1. อะไร (WHAT) คือทัศนคติของผู้นำท้องถิ่น ตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่นในขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์

2. อะไร (WHAT) คือทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์

3. ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์   กับทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีความแตกต่างกันหรือไม่ (ARE THERE ANY DIFFERENCES) 

คำถามการวิจัยที่เขียนในรูปของคำถามสามข้อนี้ มีประโยชน์สำหรับเป็นเครื่องนำทางในการทำวิจัย โดยคำถามจะคอยบอกว่าเราต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ใด  เราจะจัดเก็บข้อมูลอะไร เก็บจากใคร และจะมีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร นอกจากนี้ คำถามยังมีประโยชน์ข้อที่สองคือช่วยให้เรามีความชัดเจนว่าคำตอบสำหรับคำถามข้อ 1 กับข้อ 2 จะได้มาจากการนำแบบสอบถาม (Questionnaires) ไปถามผู้นำท้องถิ่นทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้บริหารและกลุ่มสมาชิกสภาท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธ์ุ นั่นเองครับ

สำหรับคำถามข้อที่สาม มีประโยชน์เพราะเป็นเครื่องกำกับการพิจารณาของเราต่อไปว่า. ในการเปรียบเทียบทัศนคติผู้บริหารกับทัศนคติของสมาชิกสภา เราจะต้องมีตัวเลขที่ใช้วัดทัศนคติ เป็นเชิงปริมาณ ซึ่ง เราจะต้องเขียนนิยามศัพท์ปฏิบัติการของตัวแปรที่สามารถวัดได้  ซึ่งโดยปกติการวัดทัศนคติเราจะใช้ค่าเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มเป็นตัวเลข  ตาม  5 point Likert's Scale 

ขอสรุปย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
ปัญหาการวิจัยและคำถามการวิจัยเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการทำวิจัย หรือกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า

Research problems and research questions are the most important part of a research projects.

ขอบคุณ และ สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2559

การเขียนปัญหาการวิจัย ของหัวข้อ การวิจัยเรื่อง ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นฯต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรฯ

การเขียนปัญหาการวิจัยของหัวข้อการวิจัย เรื่อง ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำอย่างไร

 ผมขอตอบว่าต้องเขียนจากสูตรของ Dr.Gary  J. Dean ที่ผมเคยนำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว คือ เขียนจากสูตรที่บอกว่าให้ยึดหลักเขียนให้ครบองค์ประกอบสามส่วน ดังต่อไปนี้ครับ

T POTS + VERBS + KEY WORDS/PHRASES

ผมขออธิบายด้วยการแทนค่าในสูตร ดังต่อไปนี้


1. T POTS อ่านว่า ทีพอทส์ เป็นตัวย่อของข้อความว่า The Purpose Of This Study  Is...แปลเป็นไทยว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้คือ เพื่อ...

2. VERBS หมายถึง คำกริยา ที่บ่งบอกว่าเราจะลงมือทำอะไร คือเราจะทำกิจกรรมอะไรในการวิจัยเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น เราจะบรรยาย (Describe) เราจะค้นหา (Identify) เราจะเปรียบเทียบ (Compare) ดังนี้ เป็นต้น
คำเหล่านี้ แต่ละคำจะบ่งบอกถึงวิธี (Method) ที่เราจะดำเนินการวิจัย หรือแสวงหาความรู้ หรือ เป็นการบ่งบอกว่าเราจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง


3. KEY WORDS/PHRASES คำสำคัญ/วลี  คำสำคัญในที่นี้หมายความถึงคำที่บ่งบอกกลุ่มคน กับประเด็นที่เราสนใจและวิธี (Methods) ในทำการวิจัยว่าเราจะ บรรยาย (Describe), อธิบาย (Explain), สำรวจหรือบุกเบิก (Explore), หรือจะ เปรียบเทียบ (Compare) นั่นเอง ในปัญหาการวิจัยนี้ เรากล่าวถึง คำสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

- ทัศนคติ
- ผู้นำท้องถิ่น
- ผู้นำท้องถิ่น ตำแหน่งนายกเทศมนตรีมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
- ผู้นำท้องถิ่นตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
- ผู้นำท้องถิ่นตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น
-โครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของจังหวัดกาฬสินธุ์

จากสูตรข้างต้นสามารถเขียน ปัญหาการวิจัย ได้ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือ เพื่อบรรยาย (Describe) ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ต่อโครงการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรของประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์



กล่าวโดยย่อ การเขียนปัญหาการวิจัยเรื่องนี้ เราต้องพยายามคิดล่วงหน้าว่า เมื่อเราทำวิจัยเสร็จแล้ว อะไรคือสิ่งที่ เราประสงค์จะรายงานต่อผู้อ่าน โดยในปัญหาการวิจัยนี้เราประสงค์รายงาน การบรรยาย (Describe) สภาพของทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นโดยมีการเปรียบเทียบทัศนคติของผู้นำที่ดำรงตำแหน่งต่างกันด้วย

ผมเชื่อมั่นว่าท่านผู้อ่านและนักศึกษาจะเข้าใจวิธีเขียนปัญหาการวิจัยไม่มากก็น้อย

พบกันใหม่ในโพสต์หน้า
สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ